ศาลจังหวัดสุรินทร์
ประวัติศาลยุติธรรม
ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน
และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม.ยาว 37.2 ซ.ม.จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2545สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"
ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี
จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวัติศาลจังหวัดสุรินทร์
สถานที่ตั้ง : ศาลจังหวัดสุรินทร์หลังเก่าตั้งอยู่เลขที่ 588 ถนนหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ศาลจังหวัดสุรินทร์ ปรากฏหลักฐานในการจัดตั้งเป็นศาลยุติธรรม ครั้งแรกเมื่อประมาณกลางปี ร. ศ. 127 โดยประกาศตั้ง คณะข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมในมณฑลอิสาณ และคณะข้าหลวงเห็นควรให้ตั้งศาลขึ้นใน 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานีเป็นศาลมณฑลร้อยเอ็ด และสุรินทร์เป็นศาลเมือง จึงเป็นศาลชุดแรกที่ได้จัดตั้งขึ้นในหัวเมืองมณฑลอิสาณพร้อมกับศาลมณฑลอุบลราชธานีและเมืองร้อยเอ็ด การสร้างที่ทำการศาลจังหวัดสุรินทร์แล้วเสร็จเมื่อประมาณปลายปี ร.ศ. 127 หรือปี ร.ศ. 128 เนื่องจากมีหลักฐานเอกสารกระทรวงยุติธรรม เรื่องของการเปลี่ยนอัตราเงินเดือนส่วนหนึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำศาลเมืองสุรินทร์ ซึ่งแสดงว่าคงมีที่ทำการ และเจ้าหน้าที่พอสมควรแล้ว อาคารศาลเมืองสุรินทร์เป็นอาคารไม้ มีมุขกลางยื่นออกมาเป็นห้องพิจารณา 1 ห้อง ส่วนปีกมุขอีกด้านหนึ่งเป็นห้องธุรการ ด้านหลังเป็นห้องพิจารณา และห้องธุรการ เก็บเอกสารอาคารดังกล่าวยกพื้นสูงประมาณ 1 ศอกเศษตั้งอยู่บริเวณบ้านพักผู้พิพากษาจังหวัดสุรินทร์ถนนหลักเมืองในปัจจุบัน ต่อมาปีพุทธศักราช 2459 มีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกจากเมืองสุรินทร์ เป็นจังหวัดสุรินทร์จึงมีชื่อใหม่่เป็นทางการว่าศาลจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ยุบศาลมารวมอยู่ในศาลมณฑลนครราชสีมา ปีพุทธศักราช 2476 มีการจัดระเบียบบริหารงานส่วนภูมิภาคใหม่การปกครองแบบมณฑลถูกยกเลิก จังหวัดสุรินทร์จึงแยกมณฑลนครราชสีมาและศาลยุติธรรมก็คงแยกเป็นศาลจังหวัดโดยอิสระเรื่อยมาจนปัจจุบันครั้นถึงปี 2493 คดีความจังหวัดสุรินทร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอาคารที่ทำการคับแคบ และชำรุดทรุดโทรมมาก ประกอบกับจำนวนผู้พิพากษาเพิ่มขึ้นจึงมีการสร้างศาลขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้กันถัดมาทางทิศตะวันออก ตรงกันข้ามกับศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูงหลังคามุงกระเบื้อง มีห้องพิจารณา 4 ห้องชั้นล่างปล่อยโล่งไว้เป็นห้องขังและเก็บพัสดุ ต่อมาปี 2500 ได้จัดตั้งศาลแขวงสุรินทร์ จึงทำการต่อเติมอาคารดังกล่าวชั้นล่างเป็นห้องธุรการศาลจังหวัดสุรินทร์ และห้องพิจารณาได้แบ่งให้ศาลแขวง 1 ห้อง ปี 2508 มีการต่อเติมห้องผู้พิพากษาและห้องพิจารณา ขึ้นอีก 1 ห้อง ต่อมาตัวอาคารมีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม ภายในตัวอาคารและห้องพิจารณาเล็ก และคับแคบไม่สะดวกแก่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกระทรวงยุติธรรมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสุรินทร์และศาลแขวงสุรินทร์ขึ้นใหม่ โดยตั้งในพื้นที่ศาลหลังเดิม แต่ขยายเนื้อที่ออกไปทางด้านทิศตะวันออกจนจรดถนนจิตรบำรุง ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2524 ประกอบพิธีเปิดทำการที่ทำการศาลจังหวัดสุรินทร์ และศาลแขวงสุรินทร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2525 เป็นอาคารตึก 2 ชั้น หลังคาทรงไทยกว้าง 28.65 เมตร ยาว 90.20 เมตร ประกอบด้วยห้องพิจารณา 10 บัลลังก์ ห้องทำงานผู้พิพากษา ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ธุรการ ห้องพักพนักงานอัยการและทนายความ ห้องเก็บสำนวน ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องพัสดุ ห้องควบคุมจำเลยสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน และต่อมาได้ย้ายที่ทำการต่อมาศาลจังหวัดสุรินทร์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้ขอใช้พื้นที่ของศาลจังหวัดสุรินทร์และเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546
ปัจจุบันศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ย้ายที่ทำการอาคารหลังใหม่เลขที่ 809 หมู่ 20 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 32000 เป็นอาคาร 4 ชั้น 7 บัลลังก์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556
ศาลจังหวัดสุรินทร์มีเขตอำนาจศาลในพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ ในปัจจุบันมีทั้งหมด 11 อำเภอ คือ
1. อำเภอเมือง |
2. อำเภอปราสาท |
3. อำเภอสังขะ |
4. อำเภอศีขรภูมิ |
5. อำเภอจอมพระ |
6. อำเภอบัวเชด |
7. อำเภอกาบเชิง |
8. อำเภอลำดวน |
9. อำเภอศรีณรงค์ |
10. อำเภอพนมดงรัก |
11. อำเภอเขวาสินรินทร์ |
ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2543 พระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเปิดทำการศาลจังหวัดรัตนบุรีให้เปิดทำการศาลจังหวัดรัตนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป
|
( ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 117 ตอนที่ 49 ก. ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2543) |
1. อำเภอรัตนบุรี |
2. อำเภอชุมพลบุรี |
3. อำเภอท่าตูม |
4. อำเภอสนม |
5. อำเภอสำโรงทาบ |
6. อำเภอโนนนารายณ์ |